“ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง”

พระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ. 2530 หลังจากที่พระองค์ท่านตัดสินพระทัยจะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีก ทำให้บ้านพักบนดอยตุงสไตล์ Swiss Chalet (สวิสซ์ชาเล่ต์) ผสมผสานกับศิลปะล้านนากลายเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานและที่ทรงงานของสมเด็จย่านับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา

พระตำหนักดอยตุงสร้างโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ภายในพระตำหนักดอยตุงถูกต้องแต่งอย่างงดงาม แต่เรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยบริเวณเพดานท้องพระโรงมีการแกะสลักเป็นกลุ่มดาวตามวันพระราชสมภพของสมเด็จย่าฯ ซึ่งที่นี่เองคือจุดเริ่มต้นโครงการพัฒนาดอยตุงโครงการซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ 6 ชนเผ่าในพื้นที่ดอยตุงตามพระวิสัยทัศน์ “ปลูกป่า ปลูกคน” ทำให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมกลายเป็นป่าต้นน้ำ และผู้คนที่เคยประกอบอาชีพผิดกฎหมายเช่นการทำไร่เลื่อนลอยหรือการปลูกฝิ่นเพื่อการอยู่รอด ปัจจุบันสามารถประกอบอาชีพที่หลากหลายจากการพัฒนาชุมชนและการเสริมสร้างวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นการปลูกกาแฟ หรืองานหัตถกรรม